รองช้ำ Plantar Fasciitis และท่าบริหาร

  1. รองช้ำ (PLANTAR FASCIITIS)

            “โรครองช้ำ” หรือ “ภาวะพังผืดฝ่าเท้าอักเสบ” คือ ภาวะที่เกิดจากการบาดเจ็บของพังผืดใต้ฝ่าเท้า(plantar fascia) ซึ่งมีลักษณะเป็นเอ็นแผ่ที่เกาะจากกระดูกส้นเท้าไปจนถึงฐานของกระดูกนิ้วเท้า มีหน้าที่ในการรองรับส่วนของโค้งเท้าและดูดซับแรงกระแทกในขณะที่มี
    การลงน้ำหนักหรือทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การเดินและการวิ่ง เมื่อพังผืดใต้ฝ่าเท้ามีความตึงตัวมากและถูกยืดออกอย่างฉับพลัน จากการใช้งานที่มากเกินไปจะส่งผลทำให้เกิดการฉีกขาดเล็กๆของพังผืดฝ่าเท้า เกิดการอักเสบและอาการเจ็บตามมาได้ โดยมักจะเกิดการฉีกขาดตรงจุดเกาะบริเวณส้นเท้า จึงทำให้ผู้ที่เป็นโรครองช้ำมักจะมีอาการเจ็บบริเวณส้นเท้านั่นเอง

            อาการรองช้ำ มีอาการเจ็บแปล๊บเหมือนมีอะไรมาทิ่มบริเวณส้นเท้าหรือตามแนวพังผืดใต้ฝ่าเท้า มักจะมีอาการมากในตอนเช้าโดยเฉพาะก้าวแรกที่ลงจากเตียงหรือเมื่อยืนลงน้ำหนักหลังจากที่นั่งนาน แต่เมื่อเดินไประยะหนึ่งแล้วอาการจะดีขึ้น และอาการจะกลับมาอีกครั้งหากเดินนานเกินไป

    CHECKLIST ปัจจัยเสี่ยงโรครองช้ำ

    • อายุระหว่าง 40-70 ปี (เมื่ออายุมากขึ้นความยืดหยุ่นของพังผืดฝ่าเท้าจะลดลง)
    • ภาวะน้ำหนักตัวเกิน ค่า BMI สูง
    • มีความผิดปกติของโครงสร้างเท้า เช่น อุ้งเท้าสูง เท้าแบนและคว่ำ เป็นต้น
    • กล้ามเนื้อน่องและเอ็นร้อยหวายมีความตึงตัว
    • อาชีพที่ต้องมีการยืนหรือเดินนาน
    • ทำกิจกรรมที่ต้องมีการลงน้ำหนักซ้ำๆ เช่น การวิ่งระยะไกล การกระโดด เป็นต้น
    • สวมใส่รองเท้าไม่เหมาะสมกับเท้า เช่น  การใส่รองเท้าส้นสูง ใส่รองเท้าพื้นแข็งหรือบางเกินไป

    ท่าบริหารรองช้ำง่ายๆทำได้ที่บ้าน

    ท่ายืดกล้ามเนื้อน่อง เอ็นใต้ฝ่าเท้า

    ท่าที่ 1

    • นั่งเหยียดขาข้างที่ต้องการยืดไปด้านหน้า
    • ใช้ผ้าขนหนูคล้องบริเวณปลายเท้า ใช้มือทั้งสองข้างจับแล้วดึงเข้าหาตัว จนรู้สึกตึงบริเวณน่อง
    • ค้างเอาไว้ 20 วินาที ทำซ้ำ 5-10 ครั้ง

    ท่าที่ 2

    • ยืนหันหน้าเข้ากำแพง ใช้มือทั้งสองข้างยันกำแพงไว้
    • ก้าวขาข้างที่ต้องการยืดไปด้านหลัง ขาเหยียดตรงส้นเท้าติดพื้น
    • ก้าวขาอีกข้างไปด้านหน้าจากนั้นค่อยๆย่อเข่าลง (เข่าไม่เลยปลายเท้า) จนรู้สึกตึงบริเวณน่องของขาด้านหลัง
    • ค้างเอาไว้ 20 วินาที ทำซ้ำ 5-10 ครั้ง

    ท่าที่ 3-4

    • ทำในท่านั่ง จากนั้นยกขาข้างที่ต้องการยืดมาพาดบนขาอีกข้าง (ดังภาพ)
    • ใช้มือจับนิ้วโป้งเท้ากระดกขึ้น จนรู้สึกตึงบริเวณเอ็นใต้ฝ่าเท้า
    • ค้างเอาไว้ 20 วินาที ทำซ้ำ 5-10 ครั้ง และสามารถเอามือคลึงบริเวณฝ่าเท้าร่วมด้วยได้

    ท่าที่ 5

    • ยืนจับพนักเก้าอี้
    • นำลูกเทนนิส ขวดน้ำ หรือลูกบอลที่ไม่นิ่มจนเกินไป มาวางใต้ฝ่าเท้าข้างที่ต้องการยืด กดน้ำหนักพอประมาณ
    • จากนั้นคลึงไป-มา จนความตึงตัวของเอ็นใต้ฝ่าเท้าลดลง

    ท่าบริหารเพิ่มความแข็งแรง

    ท่าที่ 1

    • ยืนจับพนักเก้าอี้
    • กระดกข้อเท้าขึ้น เกร็งค้างไว้ 5 วินาที จากนั้นเอาลง
    • ถีบปลายเท้าลง ส้นเท้าลอยพ้นพื้น (เขย่งเท้า) เกร็งค้างไว้ 5 วินาที จากนั้นเอาลง
    • ทำสลับกัน 10 ครั้ง/รอบ ทำซ้ำ 3 รอบ

    ท่าที่ 2

    • ทำในท่านั่ง
    • นำผ้ามารองใต้ฝ่าเท้าข้างที่ต้องการเพิ่มความแข็งแรง
    • ขยุ้มนิ้วเท้าทั้ง 5 เข้ามาที่กลางฝ่าเท้า เกร็งค้างไว้ 5 วินาที แล้วปล่อย
    • ทำสลับกัน 10 ครั้ง/รอบ ทำซ้ำ 3 รอบ